" รู้อย่างช่าง สร้างอย่างปราชญ์ "

 


Knowledges



Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
หน้าหลักข่าวก่อสร้าง     ข่าวงานก่อสร้าง  
NEWS วิกฤตแอร์พอร์ตลิงก์ดิ้นเฮือกสุดท้าย 80พนักงานชิงออก-วัดใจรัฐบาลใหม่ให้กู้1.8พันล.
วันที่ลง : 09-Aug-2011   จำนวนคนอ่าน 671

เจาะแผนกู้วิกฤต "แอร์พอร์ตลิงก์" หลังเปิดบริการเกือบครบ 1 ปีเต็ม ร.ฟ.ท.ชงแผนธุรกิจ 10 ปี เสนอคลัง ขอเงิน 1,860 ล้าน ซื้ออะไหล่สำรอง แก้ปัญหาขาดแคลน หลัง "ซีเมนส์" หมดเวลาการันตีในเดือน มี.ค. 55 พ่วงขออนุมัติซื้อรถเพิ่ม 5 ขบวน 3,000 ล้าน เพิ่มประสิทธิภาพบริการรถไฟฟ้า City Line คาดหลังปีཱུ ผู้โดยสาร-รายได้เพิ่มขึ้น ปีละ 10% มีรายได้มาชำระหนี้ในปีཽ ด้านพนักงานหวั่นไม่มั่นคง ทยอยลาออกแล้ว 80 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ (เก็บค่าโดยสาร) ครบ 1 ปี ขณะที่ปัญหาต่าง ๆ ยังมีให้เห็น และยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

ต้นตอขาดเงินทุนหมุนเวียน

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์ คือขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน ล่าสุดเพิ่งได้เงินทุนจดทะเบียน จำนวน 140 ล้านบาท มาใช้จ่ายในการดำเนินการเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงการคลังหาเงินให้ตามที่ขอไป 2,000 ล้านบาท ยังขาดอีก 1,860 ล้านบาท ไม่รู้ว่ากระทรวงการคลังจะอนุมัติให้เมื่อไหร่

"จำเป็นที่จะต้องให้ได้เงินโดยเร็ว เพราะต้องเตรียมวงเงินส่วนนี้ไว้ซื้ออะไหล่ปฏิบัติการที่เป็นส่วนสำคัญในการเดินรถ เพื่อสำรองไว้ใช้ หากมีปัญหา เพราะเดือนมีนาคม 2555 นี้จะหมดการรับประกันจากบริษัทซีเมนส์ที่การันตีไว้ 2 ปีแล้ว ขณะที่การสั่งซื้ออะไหล่ใช้เวลาอย่างน้อย 8-12 เดือน หากไม่สั่งตอนนี้ ในปีหน้าจะทำให้เกิดปัญหาขาดอะไหล่สำรองได้ กลายเป็นความเสี่ยงของโครงการ แต่อาจจะไม่เลวร้ายถึงกับต้องหยุดให้บริการ"

สำหรับเงินทุน 140 ล้านบาท ได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำไปแล้วบางส่วน จำนวน 46 ล้านบาท/เดือน เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าอะไหล่สิ้นเปลือง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่รายได้จากค่าโดยสารในปัจจุบันไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือเฉลี่ยรับอยู่ที่ 36 ล้านบาท/เดือน

ตามแผนธุรกิจ ผลประกอบบริษัทในช่วง 4 ปี (2554-2557) จะขาดทุนทุกปี โดยปี 2554 คาดว่าขาดทุน 97 ล้านบาท ปี 2555 ขาดทุน 221 ล้านบาท ปี 2556 ขาดทุน 300 ล้านบาท ปี 2557 ขาดทุน 69 ล้านบาท โดยจะเริ่มกำไรในปีที่ 5 หรือปี 2558 เป็นต้นไป

รอรัฐบาลใหม่ไฟเขียว 1,860 ล.

ทั้งนี้ แนวทางแก้ปัญหามี 2 แนวทาง คือ 1.ขอให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง อนุมัติเงินกู้ 1,860 ล้านบาท ล่าสุดได้ส่งแผนธุรกิจโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ให้พิจารณาแล้ว โดยจะนำมาใช้บริหารจัดการในส่วนค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าไฟฟ้า ฯลฯ กับซื้ออะไหล่สำรอง อาทิ ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร โทรคมนาคม เพลา เป็นต้น ก่อนหน้านี้เคยเสนอไปรอบหนึ่งแล้ว แต่ สบน.ให้กลับมาทำข้อมูลใหม่ให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องรายได้และการชำระหนี้คืน

2.รอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารจัดการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ สบน.เคยปฏิเสธจัดหาแหล่งเงินกู้ โดยให้เหตุผลว่า สบน.ไม่เคยอนุมัติกู้เงินให้บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจมาก่อน และแนะนำแนวทางให้ ร.ฟ.ท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่ นำเงินจากงบประมาณอุดหนุนที่ได้จากรัฐบาลทุกปี ประมาณ 6,000 ล้านบาท มาปล่อยกู้ให้กับบริษัทลูกแทน แต่ก็ติดปัญหากฎหมาย ร.ฟ.ท.ที่ระบุว่า กู้เกิน 5 ล้านบาท จะต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน แนวทางนี้จึงต้องรอรัฐบาลใหม่อย่างเดียว

"วงเงิน 1,860 ล้านบาท หากผ่านการอนุมัติจาก สบน.คาดว่าเงินลงทุนจะเข้ามาในปี 2555 จำนวน 420 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 860 ล้านบาท และปี 2557 จำนวน 580 ล้านบาท"

มองโลกแง่ดี คืนหนี้หมด 5 ปี

สำหรับแผนธุรกิจที่เสนอ สบน. นายภากรณ์ชี้แจงว่า 1.ขอกู้เงิน 1,860 ล้านบาท แผนการชำระหนี้คืน ใช้เวลา 10 ปี (2554-2564) คาดว่าจะชำระคืนได้ตั้งแต่ปี 2565 ภายในระยะเวลา 5 ปี หรืออาจจะชำระคืนในวันที่ผลประกอบการจะมีกำไรเป็นกระแสเงินสดจำนวนมากพอเสียก่อน

"ในแผนธุรกิจ บริษัทจะมีกำไรในปีที่ 5 หรือในปี 2559 จำนวน 167 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 255.7 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 368.3 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 257.8 ล้านบาท เป็นต้น โดยมีรายได้จากค่าโดยสารและการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายผันแปรในแต่ละปีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะค่าบำรุงรักษาระบบต่าง ๆ"

ชงแผนซื้อรถเพิ่ม 5 ขบวน

2.ลงทุนซื้อรถใหม่ 5 ขบวน วงเงิน 3,000 ล้านบาท จากเดิมทั้งระบบมี 9 ขบวน เพื่อเสริมประสิทธิภาพบริการรถไฟฟ้าขบวนธรรมดา (City Line) ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.8 หมื่นเที่ยวคน/วัน แต่ยังต้องรอ 15-20 นาที เมื่อมีขบวนรถเพิ่มจะทำให้การให้บริการรวดเร็วขึ้น หากได้รับอนุมัติเงินกู้จะต้องเร่งจัดซื้อ เพราะรถไฟฟ้าต้องใช้เวลาผลิต 2 ปี ซื้อตอนนี้จะได้รถขบวนใหม่มาใช้ในปี 2557

ตามแผนธุรกิจ ถ้าซื้อรถใหม่เพิ่ม คาดว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป ปริมาณผู้โดยสารและรายได้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% อาทิ ปี 2557 สาย City Line ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 หมื่นเที่ยวคน/วัน รายได้อยู่ที่ 647 ล้านบาท/ปี สายด่วนสุวรรณภูมิ (Express Line) ผู้โดยสาร 4,500 เที่ยวคน/วัน มีรายได้ 246 ล้านบาท/ปี เป็นต้น จนถึงปี 2565 สาย City Line คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 121,000 เที่ยวคน/วัน มีรายได้ 1,632 ล้านบาท/ปี ส่วนสายด่วนสุวรรณภูมิ คาดว่ามีผู้โดยสาร 9,800 เที่ยวคน/วัน รายได้ 621 ล้านบาท/ปี

รายได้ 100 ล.พื้นที่เช่า ส่อวืด

"นอกจากนี้ จะมีรายได้จากการให้สัมปทานเอกชน 10 ปี พื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่โฆษณา 8 สถานี ที่กำลังดำเนินการคัดเลือก ซึ่งตลอดอายุสัมปทานจะมีรายได้ประมาณ 250 ล้านบาท คาดว่ารายได้จะเริ่มเข้ามาในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จากค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ที่เอกชนจะต้องให้ หลังจากเซ็นสัญญาแล้วกว่า 100 ล้านบาท"

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มไม่มั่นใจว่ารายได้ส่วนนี้จะล่าช้าออกไปหรือไม่ เนื่องจากในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ เอกชนที่เข้ามาประมูลมีการทำผิดเงื่อนไข ขอแบ่งจ่ายเงินก้อนนี้เป็นเวลา 5 ปี

ส่วนพื้นที่โฆษณา มีเพียงรายเดียวที่เสนอมา กำลังจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาว่าจะยกเลิกและเปิดประมูลใหม่ หรือจะให้เดินหน้าต่อไป

พนักงานทยอยลาออก 80 คน

ส่วนความคืบหน้าการรับโอนพนักงานมาจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับโอนมาแล้ว 450 คน แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับบริษัท เนื่องจากบอร์ดยังไม่อนุมัติร่างระเบียบการจ้าง ดังนั้น อัตราพนักงาน 534 คน จึงยังรับได้ไม่เต็มจำนวน และทยอยรับโอนอยู่

แหล่งข่าวจากพนักงานในบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกระแสข่าวโครงการแอร์พอร์ตลิงก์กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ประกอบกับความไม่แน่นอนด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสวัสดิการ

ส่งผลทำให้พนักงาน 450 อัตรา ที่ใช้วิธี "โอนลอย" มาจากศศินทร์ เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงด้านหน้าที่การงาน ปรากฏว่ามีพนักงานทยอยยื่นใบลาออกอยู่ตลอดเวลา ล่าสุดมีพนักงานลาออกไปแล้ว 80 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานในสถานี เช่น แผนกขายตั๋ว ฯลฯ


ที่มา :  วันที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ประชาชาติธุรกิจ



TAG :

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ชื่อ
Comment
กรุณาป้อนข้อมูลตามที่ปรากฏ

ข้อความในส่วนแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็นข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ feedback@ebuild.co.thเพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้





สินค้าหมวดสถาปัตย์
สินค้าหมวดโครงสร้าง
แหล่งความรู้
eBuild Team
www..co.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Policy
Copyright 2009 Ebuild Co., Ltd. All Rights Reserved.