" รู้อย่างช่าง สร้างอย่างปราชญ์ "

 


Knowledges



Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
หน้าหลักข่าวก่อสร้าง     ข่าวงานก่อสร้าง  
NEWS เลาะเส้นทาง "นครพนม-ท่าแขก-ฮานอย" ประตูการค้า-ขนส่งรองรับ...เปิดเสรีอาเซียน
วันที่ลง : 17-Apr-2012   จำนวนคนอ่าน 1069

หลังสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 "นครพนม-คำม่วน" เปิดใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน 2554 นโยบายเตรียมความพร้อมรองรับเปิดการค้าเสรีในกลุ่มประชาคมอาเซียน 10 ประเทศหรือเออีซี นับว่า "กระชับพื้นที่" เข้ามาทุกที

ก่อนหน้านี้ สะพานมิตรภาพระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 2 แห่งแรกคือ "หนองคาย-เวียงจันทน์" ตามมาด้วย "มุกดาหาร-สะหวันนะเขต" ในขณะที่แห่งที่ 4 อยู่ระหว่างก่อสร้างที่ "เชียงของ-ห้วยทราย" มีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2555 นี้

"พี่ปุ๋ย-สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์" ผู้อำนวยการ "สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร" ส่งเทียบเชิญ "ประชาชาติธุรกิจ" ร่วมทริปไปกับคณะสื่อมวลชนหลายสิบชีวิต สำรวจและศึกษาเส้นทางคมนาคมขนส่ง สภาพเศรษฐกิจ การค้าชายแดน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางตามแนวเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ระหว่าง 4 ประเทศคือ "ไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน"

การสำรวจทริปนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนทุกปี จะใช้รถบัสโดยสารเดินทางออกสำรวจ จุดออกสตาร์ตอยู่ที่ฝั่งไทยบนทางหลวงหมายเลข 22 เส้นทางต่อเชื่อมจากจังหวัดอุดรธานี สกลนคร และนครพนม วิ่งข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ตอนกลางของประเทศลาว

เมื่อผ่านพรมแดน สปป.ลาวแล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 13 วิ่งขนานแม่น้ำโขงขึ้นไปทางเหนือ ผ่านเมืองหลักซาว มุ่งหน้าด่านน้ำพาว จุดชายแดนลาว-เวียดนาม ผ่านแขวงบอลิคำไซ แล้วเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 8 ข้ามด่านกาวแจว จากนั้นวิ่งเลาะภูเขาเข้าสู่เมือง

วินห์ไปสิ้นสุดที่ "ฮานอย" เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม รวมระยะทางประมาณ 1,000 กม.

สภาพโดยรวมเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านภูเขาสูงชัน คดเคี้ยวไปตามไหล่เขาที่กั้นระหว่างสองประเทศ ทำให้รถยนต์ไม่สามารถทำความเร็วได้ เพราะมีบางช่วงที่ถนนมี 2 เลนไปกลับสวนทางแถมอยู่ระหว่างก่อสร้าง ข้อดีของการเลือกใช้เส้นทางนี้คือ ช่วยร่นระยะทาง เพราะได้รับการกล่าวขานแล้วว่าเป็นเส้นทางสั้นที่สุดในการเดินทางด้วยถนนไปเวียดนาม

ในอนาคตมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมสูง

"ผอ.สร้อยทิพย์" เล่าให้ฟังว่า สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ถือเป็นเส้นทางการค้าการลงทุนใหม่ในการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปสู่ภาคภาคใต้ของ สปป.ลาว และภาคเหนือของเวียดนาม สามารถเชื่อมต่อไปยังมณฑลกว่างซี และนครหนานหนิงของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อีกเส้นทางหนึ่ง

หลังจากเปิดใช้สะพานแห่งนี้มาได้ 4 เดือนเศษ ปริมาณการขนส่งบนเส้นทางนี้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เก็บสถิติรถยนต์ขาออกจากฝั่งไทยรวมทุกประเภท

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ 2,155 คัน, เดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ 3,030 คัน, เดือนมกราคม 3,319 คัน, เดือนกุมภาพันธ์ 3,746 คัน และเดือนมีนาคม 2,780 คัน

"เส้นทางนี้ในอนาคตศักยภาพจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งและการท่องเที่ยว เพราะเชื่อมโยงถึง 4 ประเทศ ในระบบโลจิสติกส์ถูกออกแบบให้เป็นเส้นเลือดใหญ่ในอนาคตก็ว่าได้" ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวและว่า

เพื่อขยายการเดินทางและขนส่งสินค้าภายในประเทศให้ครอบคลุม และรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึง รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างศึกษาขยายเส้นทางรถไฟสายใหม่เพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก 1 สาย จากบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 336 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 41,363 ล้านบาท

ที่ผ่านมา สนข.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวงเงิน 40 ล้านบาท ศึกษาออกแบบเบื้องต้นแล้ว และในปีงบประมาณ 2556 ได้รับเพิ่มเติมอีก 200 ล้านบาท เพื่อศึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียดสำหรับในการก่อสร้างต่อไป

นั่งนับนิ้วมือถอยหลังไปหาปี 2558 ที่จะเปิดเออีซีเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่ "ฝั่งไทย" จะเพิ่มศักยภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการพัฒนาที่กำลังใกล้เข้ามา

สิ่งที่ประจักษ์ด้วยสองตาคือ ฝั่ง "ประเทศเวียดนาม" ก็กำลังเร่งพัฒนาโครงข่ายถนนเพื่อรองรับการค้าเสรีอาเซียน

ผ่าน สปป.ลาว กัมพูชา ไทย เพื่อไปยังพม่า

เท่ากับจะยิ่งส่งเสริมให้ระบบโลจิสติกส์และการค้าในกลุ่มอาเซียนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นไปอีก



ที่มา  :  วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555  ประชาชาติธุรกิจ



TAG :เลาะเส้นทาง "นครพนม-ท่าแขก-ฮานอย" ประตูการค้า-ขนส่งรองรับ...เปิดเสรีอาเซียน,ข่าวอสังหา,อสังหาริมทรัพย์,บ้าน,ที่อยู่อาศัย,ข่าวผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง,ข่าวก่อสร้าง,อีบิลด,eBuild,ข่าวสร้างบ้านebuild

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ชื่อ
Comment
กรุณาป้อนข้อมูลตามที่ปรากฏ

ข้อความในส่วนแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็นข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ feedback@ebuild.co.thเพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้





สินค้าหมวดสถาปัตย์
สินค้าหมวดโครงสร้าง
แหล่งความรู้
eBuild Team
www..co.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Policy
Copyright 2009 Ebuild Co., Ltd. All Rights Reserved.