" รู้อย่างช่าง สร้างอย่างปราชญ์ "

 


Knowledges



Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
หน้าหลักข่าวก่อสร้าง     ข่าวเศรษฐกิจก่อสร้าง  
NEWS ช็อก! ขึ้นราคาสินค้ารายเดือน ครึ่งปีหลังกำลังซื้อวูบ-เงินเฟ้อพุ่ง
วันที่ลง : 08-May-2012   จำนวนคนอ่าน 730

เตือนปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง ภาคธุรกิจเผชิญปัญหาต้นทุนเพิ่มเป็นลูกโซ่ ทั้งจาก "ค่าแรง-พลังงาน-ค่าไฟ" ซ้ำเติมด้วยต้นทุนการเงินของแบงก์ที่สูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ผู้ผลิตอั้นไม่อยู่ ส่งผ่านต้นทุนให้ผู้บริโภค จับตาครึ่งปีหลังแนวโน้มราคาสินค้าจะไล่ปรับขึ้นแบบเดือนต่อเดือน หวั่นกำลังซื้อช็อก ขณะที่ "บอสตัน คอนซัลติ้ง" ที่ปรึกษาชงรัฐบาลใช้เวทีเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ปลาย พ.ค.นี้ คิกออฟแคมเปญปีแห่งการลงทุน

จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3 โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า มติ กนง.ที่ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 3% เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้น่าพอใจและเร็วกว่าที่คาด แต่ยังมีความเสี่ยบ้างโดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศ สำหรับเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังเป็นระดับเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะปกติ

สินค้าปรับราคาขึ้นเดือนต่อเดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แรงกดดันเงินเฟ้ออาจผ่อนคลายในระยะสั้น แต่ช่วงครึ่งหลังปีนี้ทิศทางเงินเฟ้อจะเร่งตัวกลับมา จากผลของการส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ และแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อกลายเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของ ธปท.ช่วง 4 เดือนแรกของปี ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2554 สอดคล้องกับระดับราคาสินค้าผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น 1.7% เท่ากับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ต่างต้องเผชิญแรงกดดันสะสมของค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต จากราคาพลังงานซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรทั้งอาหาร วัตถุดิบ และค่าแรง แม้แรงกดดันเงินเฟ้อถูกลดทอนด้วยมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาล เช่น การต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ปรับลดดอกเบี้ยกู้ยืมสำหรับภาคธุรกิจ เลื่อนปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็น 1 เม.ย. 2555 จากแผนเดิมต้นปี 2555

อย่างไรก็ตาม จากตัวแปรค่าจ้าง ค่าไฟฟ้า พลังงาน และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ จะกดดันต้นทุนของภาคธุรกิจมากขึ้นช่วงหลังจากนี้ไป อาจทำให้ค่าครองชีพผู้บริโภคสูงขึ้นมาก สินค้าอาจขยับราคาแบบไล่ระดับขึ้นแบบเดือนต่อเดือนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงทรงตัวในระดับที่สูง

ดังนั้นแรงกดดันเงินเฟ้อจะมีน้ำหนักมากขึ้นในการกำหนดนโยบายการเงินของ ธปท.ช่วงครึ่งหลังปีนี้ และเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงกว่า 4% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานขยับเข้าใกล้ 3.0% (จากกรอบเงินเฟ้อของ ธปท. 0.5-3.0%)

แบงก์ช้ต้นทุนทางการเงินพุ่ง

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าและเงินเดือนข้าราชการมีผลต่อกําลังซื้อประชาชนน้อยมาก เนื่องจากผู้ประกอบการนําต้นทุนค่าแรงและราคาพลังงานมาปรับเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.3% และเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อถึง 0.7% ทําให้เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2555 อยู่ที่ 3.5-4% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 2.5-3%

จากแนวโน้มเงินเฟ้อและภาระต้นทุนที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ราคาสินค้าทยอยปรับเพิ่มขึ้นอีกระลอก ขณะที่รัฐบาลก็ดูแลเรื่องราคาสินค้าได้เพียงบางส่วน น่ากังวลว่าจะทำให้การบริโภคในประเทศ หรือกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว

ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญแนวโน้มต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรง ราคาพลังงาน รวมทั้งต้นทุนกู้ยืมที่แพงขึ้น แม้ กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 0.07% จากการถูกจัดเก็บเงินเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และภาครัฐจะมีการกู้ยืมมากขึ้น ถือเป็นการเข้ามาแย่งสภาพคล่องเงินบาทของภาคธุรกิจ

ปลายปีเห็นทิศทาง ดบ.ขาขึ้น

ส่วนนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร มองว่า ภาพเศรษฐกิจออกมาค่อนข้างชัดว่ามีการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด แต่ยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ ขณะที่ความเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากยุโรปที่มีสเปนและอิตาลีเป็นความเสี่ยงที่เข้ามาใหม่ รวมถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ทำให้แม้เงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงที่ ธปท.ต้องติดตามใกล้ชิด แต่จะยังไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมอีก 1-2 ครั้งข้างหน้า แต่หากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวไม่สร้างปัญหามาก ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสสุดท้าย หากการขยายตัวยังโตต่อเนื่อง เพราะตอนนี้เงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูง จากทั้งราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ค่าจ้างขึ้น ราคาสินค้าทยอยปรับขึ้น ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน เม.ย.ที่ลดลงเป็นผลจากการเทียบกับฐานที่สูง แต่ถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่เกือบ 0.5% ก็แสดงถึงราคาที่ยังคงขึ้นต่อเนื่อง

ระดับราคาที่สูงขึ้นขณะนี้เกิดจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคได้เกือบทั้งหมด ซึ่งภาวะนี้อาจจะไม่ได้ทำให้ผู้ที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้ประโยชน์มากนัก ขณะที่มนุษย์เงินเดือน หรือชนชั้นกลางที่ค่าแรงไม่สูงขึ้นจะกลายเป็นกลุ่มที่ต้องแบกภาระมากขึ้น นอกจากนี้อาจสร้างปัญหาให้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม บล.ภัทรยังคงประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 5.7% แม้หลายสำนักจะมีการปรับขึ้น แต่การประมาณการในระดับใกล้ 6% ก็ไม่ได้ถือว่าเศรษฐกิจเติบโตมาก เพราะปีที่แล้วเจอน้ำท่วม เศรษฐกิจไทยไม่เติบโตเลย จึงเท่ากับ 2 ปีนี้เศรษฐกิจไทยโตอยู่ปีละ 3% เท่านั้น

ส.อ.ท.หวั่นครึ่งปีหลังกำลังซื้อตก

นายนิกร สุศิริวัฒนนนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการกว่า 40 อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งจากค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าแรง ทำให้มีแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหนักอาจจะต้องปรับราคาใหม่ ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจหลังโครงสร้างต้นทุนมีผลกระทบรุนแรงกับราคาสินค้าทุกหมวด ท่ามกลางสัญญาณเรื่องความต้องการของผู้ซื้อสินค้าอุตสาหกรรมไปใช้ถดถอยลง และอยู่ในอาการซึม สังเกตได้จากยอดขายลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้ ดังนั้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะไม่เติบโตตามเป้าที่ตั้งไว้ 4-5% ก็เป็นได้ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ถึงแม้จะมีการปรับปรุงโรงงานและซ่อมแซมบ้านใหม่ก็จริง แต่สินค้าที่ขายดีกลับเป็นปูนซีเมนต์และอื่น ๆ ที่จำเป็นมากกว่า เหล็กแทบจะไม่ได้รับอานิสงส์เหล่านี้เลย

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าทีมดูแลการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ได้ประเมินภาพรวมขณะนี้ทุกนิคมที่ได้รับผล

กระทบจากน้ำท่วมซ่อมแซมปรับปรุงอุปกรณ์แล้วเสร็จ 72% ปลายไตรมาส 2 ปีนี้ จะเริ่มกลับมาผลิตได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงเวลานั้นอาจจะเป็นแรงกระตุ้นการเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นได้ 10-15% แต่ต้องระวังการบริโภคภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าพากันขึ้นราคาเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

โกร่ง ชี้ครึ่งปีหลัง ศก.ฟื้นชัด

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวถึงกรณีที่มีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อว่า ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒน์ พบว่า ดัชนีผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลง โดยเฉพาะหมวดอาหาร ส่วนหมวดที่ดัชนีเพิ่มขึ้นคือพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การขนส่ง และอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง หากมองในเชิงจิตวิทยาจะรู้สึกว่าสินค้าแพงขึ้นเท่านั้น แต่ภาพรวมถือว่ายังอยู่ในภาวะปกติ

ส่วนการส่งออกชะลอตัวช่วง 3 เดือนแรก แต่เมื่อเข้าไตรมาส 2 ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่การนำเข้าสูงผิดปกติ จากการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ภายหลังเกิดน้ำท่วม รวมถึงมีการสต๊อกชิ้นส่วนต่าง ๆ คาดว่าทั้งปีดุลการค้าจะยังเกินดุล แต่เกินดุลลดลงที่ประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เคยเกินดุลที่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดัชนีเชื่อมั่น เม.ย.ดีดเพิ่ม 24.3

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 3,244 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2555 แยกเป็น ดัชนีโดยรวมเชื่อมั่น 24.3 เพิ่มขึ้นจากมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีเพียง 23.0 ดัชนีปัจจุบัน 15.6 เพิ่มจากเดิมที่มีเพียง 14.4 และดัชนีในอนาคต 30.0 เพิ่มจากเดิมที่มีเพียง 28.8 มีปัจจัยบวกจากการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วัน นำร่อง 7 จังหวัด รวมกับการจับจ่ายวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มีเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ การรับจำนำสินค้าเกษตร และภาคอุตสาหกรรมเกือบทุกหมวดสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้ใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดน้ำท่วม การจ้างงานจึงขยายตัว

สำหรับแนวโน้มความเชื่อมั่นเดือนพฤษภาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์จับตาปัจจัยลบฉุดลดลงอีกครั้ง จากกระแสของราคาสินค้า ค่าครองชีพ น้ำมัน พลังงาน ปรับสูงขึ้น และค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติปรับแล้ว 30 สตางค์/หน่วย การขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะเริ่ม 15 พฤษภาคม และค่าใช้จ่ายต้อนรับเปิดภาคเรียนใหม่

รัฐบาลจัดปีแห่งการลงทุน

รายงานข่าวจากคณะที่ปรึกษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ฝ่ายเลขานุการ ได้รายงานข้อเสนอของบริษัทบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ปใน 4 ประเด็นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ และเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูประเทศ คือ 1.ต้องจัดลำดับความสำคัญของการกำหนดนโยบายและแผนการฟื้นฟูตามความจำเป็นเร่งด่วน 2.ต้องสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยและการสื่อสารสร้างความน่าเชื่อถือกับนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการร่วมมือกับเอกชนอย่างต่อเนื่อง 3.ควรสร้างหลักประกันในการพัฒนา ให้กลุ่มความคิดต่างทางการเมือง เพื่อให้ทั้ง 2 สียอมรับการฟื้นฟูประเทศ โดยต้องสร้างเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นให้เกิดขึ้นทุกประเด็น 4.ต้องสนับสนุนการลงทุนรูปแบบการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP)

ทั้งนี้ การสร้างความเชื่อมั่น สร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย ควรฉวยโอกาสคิกออฟแผนลงทุนในการประชุมระดับนานาชาติ World Economic Forum on East Asia 2012 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย. 2555 สะท้อนความคิดสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

นอกจากนี้ทีมที่ปรึกษายังเสนอว่า รัฐบาลต้องเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านไฟฟ้า น้ำประปา สาธารณูปโภค

"รัฐบาลต้องมีมาตรการดึงดูดเอกชน ให้ลงทุนให้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย โดยอาจจะมีแคมเปญ 5 ปีข้างหน้า เป็นช่วงคลื่นลูกใหม่ของการลงทุนในประเทศไทย" แหล่งข่าวกล่าว


ที่มา  :  วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2555  ประชาชาติธุรกิจ



TAG :ช็อก! ขึ้นราคาสินค้ารายเดือน ครึ่งปีหลังกำลังซื้อวูบ-เงินเฟ้อพุ่ง,ข่าวอสังหา,อสังหาริมทรัพย์,บ้าน,ที่อยู่อาศัย,ข่าวผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง,ข่าวก่อสร้าง,อีบิลด,eBuild,ข่าวสร้างบ้านebuild

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ชื่อ
Comment
กรุณาป้อนข้อมูลตามที่ปรากฏ

ข้อความในส่วนแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็นข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ feedback@ebuild.co.thเพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้





สินค้าหมวดสถาปัตย์
สินค้าหมวดโครงสร้าง
แหล่งความรู้
eBuild Team
www..co.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Policy
Copyright 2009 Ebuild Co., Ltd. All Rights Reserved.