" รู้อย่างช่าง สร้างอย่างปราชญ์ "

 


Knowledges



Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
หน้าหลักข่าวก่อสร้าง     ข่าวเศรษฐกิจก่อสร้าง  
NEWS 13อุตฯกระอักค่าไฟพรวด "โรงแรม-ห้าง-ปูน-วัสดุก่อสร้าง"อั้นไม่อยู่
วันที่ลง : 03-May-2012   จำนวนคนอ่าน 733

13 อุตสาหกรรมอ่วม ต้นทุนพุ่งอีกระลอก 6-7% หลังรัฐปรับค่า Ft ไฟฟ้า "ปูนซีเมนต์-กระดาษ" แจ็กพอตสุด เล็งขึ้นราคาสินค้า "ห้าง โรงแรม โรงงาน อสังหาฯ" กระทบทั่วหน้า กัดฟันรับสภาพ สภาอุตฯจี้รัฐปล่อยค่าไฟฟ้าขึ้นตามกลไกตลาด ด้านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานส่งสัญญาณปลายปีค่า Ft มีสิทธิ์ทะลุ 1 บาท/หน่วย ผลพวงจากต้นทุนเชื้อเพลิงโลกขยับขึ้นต่อเนื่อง

แม้เศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงและท้าทายซ้ำ จากปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตขยับตัวสูงขึ้นก้าวกระโดด

ล่าสุด ที่กำลังเป็นปัญหาคือ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจากการที่ราคาพลังงานเชื้อเพลิงขยับสูงขึ้น ตั้งแต่รอบเดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป จากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเมื่อ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) รอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2555 ในอัตรา 30 สตางค์/หน่วย เพื่อให้สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง

อุตฯจี้ปล่อยตามกลไกตลาด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับผล

กระทบต่อเนื่องจากการขึ้นค่าไฟฟ้า เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงการผลิตสูง 60-70% คือ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ กับอุตสาหกรรมกระดาษ ส่วนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทุกอุตสาหกรรมยอมรับสภาพ และต้องการให้รัฐบาลปล่อยค่าไฟฟ้าปรับขึ้นลงตามกลไกตลาดมากกว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามจริงพร้อมค่าไฟที่เพิ่มขึ้น

ปูนซีเมนต์ปรับขึ้น 5-10 บาท/ถุง

แหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตปูนซีเมนต์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การปรับขึ้นค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.อีกหน่วยละ 30 สตางค์ จะมีผลต่อต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์ และอาจทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจปรับขึ้นราคาปูนด้วยวิธีการขอดึงส่วนลดที่ให้กับร้านผู้แทนจำหน่ายกลับคืนบางส่วน คาดว่าจะอยู่ในระดับตันละ 100-200 บาท (1 ตัน มี 20 ถุง) ซึ่งจะมีผลให้ปูนถุงปรับขึ้นราคาเฉลี่ยถุงละ 5-10 บาท เนื่องจากต้นทุนหลักในการผลิตปูนซีเมนต์มาจากการใช้เชื้อเพลิง (ถ่านหิน) มีสัดส่วน 35% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม รองลงมาคือการใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วน 30% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม ส่วนที่เหลือมาจากค่าแรง 15% ค่าวัตถุดิบและซ่อมบำรุงอีก 20%

ขอคืนส่วนลดเอเย่นต์ 2 รอบ

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ระหว่างคำนวณต้นทุน และเร็ว ๆ นี้คงจะพิจารณาปรับขึ้นราคาปูนซีเมนต์ทางอ้อมจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันให้ส่วนลดสินค้าหน้าโรงงานตันละ 1,000 บาท ก็จะขอคืนส่วนลดอีกตันละ 100-200 บาท และในอนาคตจะทยอยขอคืนส่วนลดสินค้าหน้าโรงงานเพิ่มขึ้นอีก จนเหลือส่วนลดหน้าโรงงานตันละ 400-500 บาท

ทั้งนี้ บริษัทใช้งบฯลงทุน 4-5 พันล้านบาท ติดตั้งระบบนำพลังงานความร้อนเหลือทิ้งจากการผลิตปูนซีเมนต์กลับมาใช้ผลิตไฟฟ้า มีกำลังการผลิตไฟสูงสุด 60 เมกะวัตต์ จะติดตั้งระบบแล้วเสร็จปลายปีนี้

ศูนย์การค้า แห่ลงทุนเทคโนฯ

แหล่งข่าวจากบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพารากอน เปิดเผยว่า เนื่องจากค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนอันดับแรก ๆ ของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของศูนย์การค้าไม่แพ้ค่าแรงงานพนักงาน เมื่อค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นจึงส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วย แนวทางการขยายสาขาใหม่ ๆ จะลงทุนเทคโนฯประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย

ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น มองว่า การที่ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น และปริมาณการใช้ไฟฟ้าของศูนย์การค้าที่อยู่ในระดับที่สูง เป็นสิ่งที่ซีพีเอ็นตระหนักมานานแล้ว บริษัทจึงมีนโยบายนำนวัตกรรมด้านการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยได้ลงทุนนำนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงาน นำพลังงานทางเลือกที่ช่วยในการประหยัดไฟฟ้ามาใช้ นอกจากนี้ในอนาคตมีโครงการจะลงทุนและพัฒนาเทคโนฯประหยัดพลังงานเพิ่มอีก

รร.โอดผลักภาระให้ลูกค้าไม่ได้

ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงแรม นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟฟ้าของธุรกิจโรงแรมเฉลี่ยอยู่ที่ 15-25% ของต้นทุนทั้งหมด การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่จะมีขึ้นกลางเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะกระทบต่อต้นทุนรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นราว 2% อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมไม่สามารถปรับราคาห้องพักตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ เพราะปัจจัยหลักในการปรับขึ้นอยู่กับกลไกราคาตามฤดูท่องเที่ยว ทำเล และการแข่งขันระดับโลกมากกว่า

ขยับราคาอะไหล่ทดแทน 5-10%

นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เผยว่า ผลกระทบจากต้นทุนด้านแรงงานที่สูงขึ้น 10-20% จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นอกจากนี้ต้นทุนพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมขยับขึ้นสูงมาก ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับราคาอะไหล่รถยนต์ทดแทนขึ้นอีก 5-10%

13 อุตฯแบกต้นทุนค่าไฟอ่วม

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากที่คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft ในสัดส่วน 30 สตางค์ต่อหน่วย คาดว่า กิจการขนาดเล็กและครัวเรือนที่ใช้ไฟเกิน 90 หน่วย จะมีภาระค่าไฟปรับเพิ่มขึ้น 8.2-10.9% ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจโดยเฉลี่ยจะปรับขึ้น 3.0% โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 6.0-7.0%

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนโดยรวม จะได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มก็อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการบริหารสภาพคล่องได้โดยกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนจากค่าไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงกว่า

ร้อยละ 10 ขึ้นไปมี 13 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมน้ำแข็ง (60.6%) การประปา (46.6%) โกดังเก็บสินค้า (44.7%) อุตสาหกรรมโรงแรม (32.9%) อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ (24.3%) อุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์ (24.3%) ทอผ้า (18.3%) อุตสาหกรรมค้าปลีก (16.0%) บริการบันเทิง (11.9%) อุตสาหกรรมเหล็ก (11.4%) เป็นต้น ทั้งนี้ หากกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีแรงกดดันทางต้นทุนสูงมากขึ้นตามลำดับ เช่น อุตสาหกรรมโรงแรม สิ่งทอ เป็นต้น

พลังงานถกอุ้มภาคครัวเรือน

ด้านนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้หารือกับรัฐบาลถึงการเพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่า Ft รอบใหม่ พ.ค.-ก.ย.นี้อีก 30 สตางค์/หน่วย การลดภาระเบื้องต้นอาจจะเป็นมาตรการทางภาษี จากนั้นจะพิจารณาถึงภาคครัวเรือน จะยืดระยะเวลาการอนุญาตให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยใช้ไฟฟรีต่อไปได้ ขณะเดียวกันจะดูแลต้นทางเรื่องการใช้วัตถุดิบก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าตอนนี้มากถึง 70% ซึ่งยังมีช่องทางลดต้นทุนได้อีก

อีกทั้งเตรียมพิจารณาลดการผูกขาดการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ต่ำกว่าปัจจุบันที่มีถึง 50% เพื่อเปิดทางให้เอกชนรายอื่นเข้ามามีบทบาท ทำให้ราคาขายไฟฟ้าถูกลงบ้าง สำหรับกลุ่มก๊าซเหลว (LPG) ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นราคารอบใหม่ 16 พ.ค.นี้ กับภาคขนส่งอัตรา 75 สตางค์/กก. และภายในปี 2555 มีแผนจะลอยตัวราคาภาคขนส่งเป็น 20.13 บาท/กก. ภาคอุตสาหกรรม 30.13 บาท/กก. ส่วนภาคครัวเรือนยังตรึงราคาถึงสิ้นปีนี้ จากนั้นไตรมาส 2 ปี 2556 จะลอยตัวเป็น 18.13 บาท/กก.

นายอารักษ์กล่าวว่า จะให้ความช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้พลังงานให้ได้ถึง 20 ล้านครัวเรือน ใช้เงินอุดหนุน 10,000 ล้านบาท/ปี

ชี้ค่า Ft ปีนี้พุ่งกว่า 1 บาท/หน่วย

รายงานจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยืนยันว่า แนวโน้มต้นทุนเชื้อเพลิงในตลาดโลกโดยรวมสูงขึ้นตลอดเวลา จึงเป็นไปได้ที่การขึ้นค่า Ft ไฟฟ้าในไทยสิ้นสุดปี 2555 จะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1 บาท/หน่วย อาจจะส่งผลกระทบกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในรอบใหม่ พ.ค.-ก.ย.นี้ แต่ กกพ.พยายามอย่างเต็มที่แล้ว โดยอนุมัติให้ขึ้นเพียง 30 สตางค์/หน่วย ทั้งที่ต้นทุนจริงคือ 51 สตางค์/หน่วย ส่วนต่างให้ กฟผ.รับภาระไว้

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าเอฟทีใบบิลไฟฟ้ารอบใหม่ตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป กฟผ.แบกรับภาระส่วนต่างต้นทุนไว้ถึง 21 สตางค์/หน่วย รวมแล้วตลอดปีนี้ต้องใช้เงินอุดหนุน 8,000-10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ต้องหาเงินมาลงทุนในกิจการไฟฟ้าปลายปีนี้อีกกว่า 12,000 ล้านบาท

พาณิชย์ชี้เงินเฟ้อ 2.47%

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย. 55 เท่ากับ 114.78 เพิ่มขึ้น 0.59% เทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 2.47% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 54 ซึ่งอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3.45% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) 55 อยู่ที่ 3.16% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังคงประมาณเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 3.5% ซึ่งทำให้ประมาณการเงินเฟ้อในปี"55 อยู่ในกรอบเดิม 3.3-3.8%

"สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนนี้ปรับชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แม้ผลสำรวจราคาสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ 417 ราย มีรายการสินค้าที่ราคาคงที่ 161 รายการ ราคาลดลง 69 รายการ และราคาเพิ่มขึ้น 187 ราย แต่คิดเป็นสัดส่วนน้ำหนักแล้วน้อยกว่ากลุ่มที่ราคาเพิ่ม ที่ประชาชนรู้สึกว่าราคาขึ้นอาจจะเกิดจากผลของความรู้สึกเท่านั้น เพราะจากข้อเท็จจริงที่สำรวจ 60,000 ตัวอย่างยังไม่ปรับขึ้น การปรับค่าโดยสารก็ยังไม่มีผล และรัฐบาลน่าจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างอื่นออกมา"

นายกฯตั้งวอร์รูมแก้ของแพง

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ซึ่งประกอบด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายกิตติรัตน์กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมได้นำข้อมูลราคาสินค้ามาวิเคราะห์ร่วมกัน และเห็นตรงกันว่า ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ปกติ โดย ดร.วีรพงษ์และนายโอฬารได้แสดงความเห็นที่ตรงกันว่า โดยทั่วไปหากดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อมีการเปลี่ยนแปลงต่ำกว่า 2% ก็ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะผู้ประกอบการจะไม่มีแรงจูงใจในการผลิตสินค้า แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น แต่ถ้าเงินเฟ้อมีอัตราสูงถึง 4-5% ก็จะเป็นเรื่องที่น่ากังวล ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกำกับดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ 2-3.5% ให้ได้

อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลได้ติดตามภาวะราคาสินค้าหลายรายการ พบว่าความกดดันที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับนั้นเริ่มแสดงสัญญาณคลี่คลายลง โดยสินค้าบางรายการมีราคาอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มาตรการของรัฐบาลได้ผลดี

ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนเมษายน 2555 มีค่าเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนอยู่ที่ 3.16% โดยในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 3.45% ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในช่วงที่รัฐบาลต้องการ เพราะอัตราเงินเฟ้อไม่ควรเกินช่วง 3.3-3.8% ทั้งนี้ สินค้าในหมวดอาหารสดและสำเร็จรูปยังพบว่ามีแนวโน้มราคาที่ลดลง ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และผัก

นายยรรยงกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดูแลไม่ให้สินค้าปรับราคาขึ้นจนมากผิดปกติ โดยให้ตั้งวอร์รูมติดตามราคาสินค้าที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาผ่านทางสายด่วน 1569

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาจจะมาจากปัจจัยราคาพลังงานที่สูงขึ้น



ที่มา  :  วันที่ 03 พฤษภาคม พ.ศ. 2555  ประชาชาติธุรกิจ



TAG :13อุตฯกระอักค่าไฟพรวด "โรงแรม-ห้าง-ปูน-วัสดุก่อสร้าง"อั้นไม่อยู่,ข่าวอสังหา,อสังหาริมทรัพย์,บ้าน,ที่อยู่อาศัย,ข่าวผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง,ข่าวก่อสร้าง,อีบิลด,eBuild,ข่าวสร้างบ้านebuild

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ชื่อ
Comment
กรุณาป้อนข้อมูลตามที่ปรากฏ

ข้อความในส่วนแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็นข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ feedback@ebuild.co.thเพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้





สินค้าหมวดสถาปัตย์
สินค้าหมวดโครงสร้าง
แหล่งความรู้
eBuild Team
www..co.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Policy
Copyright 2009 Ebuild Co., Ltd. All Rights Reserved.