" รู้อย่างช่าง สร้างอย่างปราชญ์ "

 


Knowledges



Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
หน้าหลักข่าวก่อสร้าง     ข่าวเศรษฐกิจก่อสร้าง  
NEWS เทียบฟอร์ม บ้านหลังแรก มาตรการ "ภาษี-ดอกเบี้ย" ใครเจ๋งกว่ากัน !!
วันที่ลง : 04-Oct-2011   จำนวนคนอ่าน 795

"บ้านหลังแรก" กลายเป็นโมเดลใหม่ที่ฝ่ายการเมืองจุดพลุขึ้นมา เริ่มต้นโดยพรรคประชาธิปัตย์ ออกแพ็กเกจสินเชื่อซื้อบ้าน-คอนโดฯหลังแรก ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้ดอกเบี้ย 0% 2 ปี วงเงิน 25,000 ล้านบาท พร้อมกับยกเว้นค่าโอนและจดจำนอง เปิดรับคำขอสินเชื่อวันแรก 9 พฤษภาคม 2554 ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน คำขอสินเชื่อทะลักเกิน 30,000 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อมีการยุบสภานำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป พรรคเพื่อไทยแม้จะไม่ได้เขียนไว้ในเปเปอร์นโยบายหาเสียงด้านเศรษฐกิจของพรรค และแม้ว่าจะไม่ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา แต่ก็ปรากฏว่ามีการ "หาเสียง" มาตรการดอกเบี้ย 0% 5 ปี สำหรับซื้อบ้านหลังแรกไว้อย่างเอิกเกริก

หลังจากผลเลือกตั้งชนะถล่มทลายนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย มาตรการ "บ้านหลังแรก" จำเป็นจะต้องแปลงสู่ภาคปฏิบัติโดยพลัน แต่คราวนี้มาแบบ "คิดใหม่ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน" จึงถูกแปลงออกเป็น 2 มาตรการในเรื่องเดียวกัน

มาตรการภาษี 5 ปี 5 แสน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นโยบาย "บ้านหลังแรก" เวอร์ชั่นเพื่อไทย อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรี 3 คน เริ่มจาก "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" รมว.คลัง คนที่ 2 "วิรุฬ เตชะไพบูลย์" รมช.คลัง กำกับธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) และคนที่ 3 "บุญทรง เตริยาภิรมย์" รมช.คลัง นักเลือกตั้งจากเชียงใหม่ สายตรงเจ๊แดง กำกับกรมสรรพากร

ในช่วง 1 เดือนแรกที่รัฐบาลเพื่อไทยบริหารประเทศ กล่าวได้ว่านโยบายบ้านหลังแรกถูกตรวจสอบเป็นรายวัน เพราะเป็นนโยบายที่อยู่ในใจผู้บริโภค ถึงขนาดว่าชะลอการตัดสินใจซื้อบ้านและชะลอการตัดสินใจโอน เพราะอยากจะได้ความชัดเจนว่าจะได้มากขึ้นหรือน้อยลง เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่น 0% 2 ปีของพรรคประชาธิปัตย์

ปรากฏว่ารัฐบาลเพื่อไทยออก "มติ ครม.-คณะรัฐมนตรี" วันที่ 20 กันยายน 2554 ระบุนโยบายบ้านหลังแรกมีเพียงมาตรการเดียวคือ "การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท นำเงินได้สุทธิมาคำนวณหักลดหย่อน 10% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นเวลา 5 ปี



สิทธิประโยชน์จำกัดสิทธิ์เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ใหม่ในโครงการจัดสรร โดยไม่นับรวม "บ้านมือสอง-บ้านสร้างเอง" ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ประกอบการบ้านมือสองที่ออกมาระบุว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านมือสองเมื่อปี 2553 สูงถึง 6.5 หมื่นหน่วย หรือครึ่งหนึ่งของตลาด เท่ากับยอดโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านใหม่ แต่ทำไมถึงไม่ได้รับการเหลียวแล

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หนักหนากว่านั้นคือ มาตรการหักลดหย่อนภาษีนั้น "ไม่เวิร์ก" เคยใช้เมื่อปี 2551 ตอนนั้นไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นบ้านหลังแรกด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องยกเลิกไป ที่สำคัญกว่านั้น

ผู้บริโภคต้องการนโยบายดอกเบี้ย 0% 5 ปี ไม่ใช่เรื่องการหักลดหย่อนภาษี

กลายเป็นที่มาของการบรรจุวาระพิจารณานโยบายบ้านหลังแรกสู่ที่ประชุม ครม. วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนมาตรการภาษี และเพิ่ม "มาตรการทางการเงิน" หรือดอกเบี้ย 0% เข้ามา

แต่แล้วก็แท้งกลางอากาศ เมื่อ "รมว.ธีระชัย" สั่งถอนวาระประชุมทั้ง "บ้านหลังแรก-รถคันแรก" กะทันหัน โดยให้กลับไปเรียบเรียงหลักเกณฑ์ใหม่ให้เรียบร้อย และเตรียมนำเสนอที่ประชุม ครม. วันอังคารที่ 4 ตุลาคมแทน

เพิ่มสิทธิประโยชน์ "ยกเว้นภาษี"

ถึงแม้ "บ้านหลังแรก" จะถูกหางเลขต้องถอนวาระออกไปพร้อม ๆ กับมาตรการรถคันแรกที่ยังไม่นิ่ง แต่ "วิรุฬ เตชะไพบูลย์" รมช.คลังที่กำกับ ธอส. ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักว่า นโยบายบ้านหลังแรกที่เป็นมาตรการทางการเงิน ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.วันที่ 27 กันยายน และที่ประชุม ครม.รับในหลักการเบื้องต้นแล้ว รอแต่บรรจุวาระประชุม ครม.อังคารหน้าอีกรอบเท่านั้น

โดยสรุปจะมี 2 มาตรการควบคู่กันคือ "มาตรการทางภาษี" และ "มาตรการทางการเงิน"

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะปรับมาตรการภาษีบ้านหลังแรก เปลี่ยนจาก "ลดหย่อนภาษี" มาเป็น "หักภาษีเงินได้โดยตรง" โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการหักภาษีกันใหม่ จากเดิมให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านหลังแรก 10% ของราคาบ้านมาหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี ให้เปลี่ยนเป็นนำค่าใช้จ่าย 10% ของราคาบ้านมาหักภาษีได้โดยตรงในระยะเวลา 5 ปี

ซึ่งวิธีการหักภาษีเงินได้โดยตรงนั้น กรมสรรพากรเรียกว่า "ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา"

"ประชาชาติธุรกิจ" ลองคำนวณคร่าว ๆ บนสมมติฐานซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท และผู้ซื้อมีฐานภาษี 10% (ดูตารางประกอบ) เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง "หักลดหย่อน-หักทางตรง" พบว่า จากกรณีตัวอย่าง ผู้มีรายได้ (นาย ก.) มีเงินเดือน 3 หมื่นบาท ถ้าไม่มีมาตรการภาษีอะไรออกมาช่วยเลย สิ้นปี นาย ก. จะต้องจ่ายภาษี 12,000 บาท เต็มจำนวน

กรณีตัวอย่าง ถ้ารัฐมีมาตรการ "หักลดหย่อนภาษี" นาย ก. ซึ่งซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท และมีฐานภาษี 10% ดังนั้นการคำนวณจะมี 2 ทอด คือ ทอดที่ 1 บ้านราคา 1 ล้านบาท หักลดหย่อน 5 ปี ปีละ 20,000 บาท นำมาหักจากเงินได้ที่จะนำไปคำนวณเสียภาษีปีละ 120,000 บาท เท่ากับจะเหลือปีละ 100,000 บาท

ทอดที่ 2 เงินได้ที่จะต้องถูกนำมาหักภาษีเมื่อเหลือ 100,000 บาทแล้ว เมื่อนำมาคำนวณกับอัตราภาษี 10% (โดยวิธีการคูณ) เท่ากับ นาย ก. จะต้องจ่ายภาษี 10,000 บาท

ดังนั้น วิธีหักลดหย่อนภาษี นาย ก. จะต้องจ่ายภาษี 10,000 บาท ประหยัดไป 2,000 บาท

กรณีตัวอย่าง ถ้ารัฐมีมาตรการ "หักภาษีโดยตรง" นาย ก สามารถนำค่าหักลดหย่อนปีละ 20,000 บาท มาหักหลังจากคำนวณภาษีแล้วได้ทันที นั่นหมายความว่าภายใต้วิธีการนี้ นาย ก. จ่ายภาษี 0 บาท (หรือไม่ต้องจ่าย 12,000 บาท) นั่นเอง

มีข้อสังเกตคือ ทำไมเรื่องมาตรการภาษีถึงได้รวดเร็วกว่าดอกเบี้ย 0% แหล่งข่าววงในจากทำเนียบรัฐบาลชี้เบาะแสว่า งานในกำกับของรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทยดูจะมีผลงานเป็นรูปธรรมมากกว่าพรรคอื่น ๆ กรณีนี้คือเป็นผลงานของ "บุญทรง เตริยาภิรมย์" จากเพื่อไทย@เชียงใหม่ นั่นเอง

ดบ. 0% 3 ปี ประหยัด 1.8 แสน

กลับมาที่ "มาตรการทางการเงิน" ก่อนหน้านี้ออกอาการจะถูกยกเลิกเอาดื้อ ๆ เพราะทั้ง "รมช.วิรุฬ เตชะไพบูลย์" ที่กำกับดูแล ธอส. ก็บอกว่า "...ไม่เคยหาเสียงเรื่องดอกเบี้ย 0% 5 ปี" และ "รมว.โต้ง-กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ในฐานะคุม ครม.เศรษฐกิจ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ซ้ำว่า ดอกเบี้ย 0% 5 ปี ไม่ได้แถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภา

อย่างไรก็ตามเมื่อดูอารมณ์สังคมแล้ว ประกอบกับภาวะปั่นป่วนเพราะประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อและโอนบ้านเพราะรอดอกเบี้ย 0% 5 ปี คาดว่านำไปสู่การตัดสินใจบางอย่าง เพราะล่าสุด "รมช.วิรุฬ" ออกมาระบุว่า นโยบายบ้านหลังแรกที่เป็นมาตรการทางการเงินจะมีแพ็กเกจสินเชื่อดอกเบี้ย 0% 3 ปี แต่จะลดเพดานให้เหลือบ้านราคาไม่เกิน 1-2 ล้านบาท วงเงินเบื้องต้นประมาณ 10,000 ล้านบาท

"ประชาชาติธุรกิจ" ลองคำนวณ คร่าว ๆ โดยเทียบเคียงกับมาตรการดอกเบี้ย 0% 2 ปี ของ ธอส.ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ พบว่าถึงแม้จะเป็นนโยบายที่มาช้าแต่ก็ดีกว่าไม่มาเลย เพราะบ้านราคา 1 ล้านบาท

ดอกเบี้ย 0% ผู้ซื้อจะประหยัดเงินต้นปีละ 6 หมื่นบาท เวลา 3 ปีเท่ากับ 1.8 แสนบาท

เทียบชั้นกับมาตรการทางภาษีแล้วถือว่าคะแนนนิยมยังห่างไกลกันอยู่หลายช่วงตัว เพราะสิทธิประโยชน์จากดอกเบี้ย 0% 3 ปี ถึงยังไงก็มากกว่าการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5 ปี 5 แสนบาทอยู่ดี

ที่ยังต้องลุ้นอีกนิดหน่อยคือ เพดานราคาบ้านจะขยับให้จาก 1 ล้านเป็น 2 ล้านบาทหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริง บ้าน-คอนโดฯราคาต่ำกว่าล้านหาทำยายากเต็มทีในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ขณะเดียวกันทาง ธอส.ที่มีประสบการณ์ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% 2 ปี พบว่าเฉลี่ยสินเชื่อจะอยู่ที่คำขอซื้อบ้านราคา 1.4-1.5 ล้านบาท

กับอีกเรื่องคือ "บ้านมือสอง-บ้านสร้างเอง" จะได้อานิสงส์จากมาตรการดอกเบี้ยหรือไม่ คำตอบรอเคาะในที่ประชุม ครม. 4 ตุลาคมนี้



ที่มา :  วันที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ประชาชาติธุรกิจ



TAG :

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ชื่อ
Comment
กรุณาป้อนข้อมูลตามที่ปรากฏ

ข้อความในส่วนแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็นข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ feedback@ebuild.co.thเพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้





สินค้าหมวดสถาปัตย์
สินค้าหมวดโครงสร้าง
แหล่งความรู้
eBuild Team
www..co.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Policy
Copyright 2009 Ebuild Co., Ltd. All Rights Reserved.