" รู้อย่างช่าง สร้างอย่างปราชญ์ "

 


Knowledges



Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
หน้าหลักข่าวก่อสร้าง     ข่าวอสังหาริมทรัพย์  
NEWS รง.อิฐมอญ"อยุธยา"สำลักน้ำท่วม กำลังผลิตหายวับ70%รับสร้างบ้านมึนของขาดตลาด
วันที่ลง : 26-Sep-2011   จำนวนคนอ่าน 699

น้ำท่วมพ่นพิษถึงตลาดอิฐมอญ แหล่งผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศที่ "อ.บางปะหัน-บางบาล" พระนครศรี อยุธยากระเทือนหนัก โรงอิฐ 70% จากทั้งหมดกว่า 1,600 โรง หาทาง ออกไม่เจอเพราะอยู่ในพื้นที่ประสบภัย เผยผลิตสินค้าไม่ได้ดันราคาขายขึ้นมาแล้ว 40% ชี้เป็นราคาสูงสุด ในรอบ 8 ปี จาก 60 สตางค์เป็น 90-95 สตางค์ หากน้ำไม่ลดมีโอกาสทะลุก้อนละ 1 บาท ตลาด "รับสร้างบ้าน" ป่วนขาดแคลนอิฐมอญ เจรจาลูกค้าขอขยายเวลาสัญญาก่อสร้าง ส่วนวัสดุก่อสร้างอื่นอย่างหิน ปูนซีเมนต์ ราคายังนิ่ง


ผู้สื่อข่าวสำรวจสถานการณ์ราคา อิฐมอญ หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เป็นแหล่งผลิต อิฐมอญสำคัญของประเทศพบว่า นับจากเดือนมิถุนายนซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูฝนเต็มตัวจนถึงปัจจุบัน พื้นที่บางส่วน ในจังหวัดต้องประสบปัญหาน้ำท่วมมาเกือบ 1 เดือน ส่งผลให้ราคาขายอิฐมอญในอยุธยาปรับขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 40% จากก้อนละประมาณ 0.60-0.65 บาท เป็นก้อนละประมาณ 0.90-0.95 บาท มีแนวโน้มด้วยว่าราคาจะปรับขึ้นอีกจนทะลุก้อนละ 1 บาท หาก สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย

แหล่งใหญ่ "บางปะหัน-บางบาล"

นายสายยัน โพธิกุล เจ้าของโรงอิฐทวีทรัพย์ ในตำบลบางเดื่อ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและค้าส่งอิฐมอญ กล่าวว่า จากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ราคาอิฐมอญได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วประมาณ 40% จากเดิมอิฐมอญแบบตันขนาดมาตรฐาน (6.5x14.5x3 ซ.ม.) เคยขายราคา (รวมจัดส่งถึงกรุงเทพฯ) ก้อนละ 65 สตางค์ ปัจจุบันปรับขึ้นเป็นก้อนละ 95 สตางค์ หากฝนยังคงตกต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่ดีขึ้น ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องปรับราคาขึ้นไปถึงหรือเกินกว่าก้อนละ 1 บาท

ปัจจุบันอยุธยาน่าจะถือว่าเป็นแหล่งผลิตอิฐมอญใหญ่ที่สุดในประเทศ มีโรงอิฐอยู่ใน 2 อำเภอหลัก คือ บางปะหันและบางบาล ส่วนอำเภออื่น ๆ มีโรงงานอยู่บ้างประปราย อาทิ อำเภอมหาราช นครหลวง เป็นต้น ประเมินว่าน่ามีจำนวนโรงอิฐรวมกันประมาณกว่า 1,500-1,600 โรง และมีกำลังผลิตอิฐมอญรวมกันประมาณวันละ 3,000,000-4,000,000 ก้อน หรือเฉลี่ยเดือนละ 75-100 ล้านก้อน

ในจำนวนนี้คาดว่ามีโรงอิฐประมาณ 60-70% ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถใช้งานได้ ส่งผลให้มีปริมาณ อิฐมอญออกสู่ตลาดลดลง ทำให้ราคาอิฐในช่วงที่ผ่านมาขยับสูงขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับโรงอิฐทวีทรัพย์ยังไม่มีปัญหา เรื่องน้ำท่วม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ตำบล บางเดื่อที่มีพนังกั้นน้ำสูง 80-100 เซนติเมตรช่วยไว้

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากโรงอิฐท้องถิ่นแห่งหนึ่งในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาได้ปรับราคาขาย (รวมขนส่งถึงกรุงเทพฯ) อิฐมอญขึ้นแล้ว 35% จากประมาณ 70 สตางค์ ปรับขึ้นเป็นก้อนละ 95 สตางค์ และเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเคยปรับขึ้นไปถึงก้อนละ 97 สตางค์ ซึ่งเป็นราคาขายของทางร้านที่สูงที่สุดในรอบ 7-8 ปี เพราะปีนี้ฝนตกต่อเนื่อง การนำอิฐที่เผาแล้วมาตากแดดต้องใช้เวลานานขึ้น ส่งผลให้มีกำลังผลิตลดลง 10-20% เหลือเดือนละประมาณ 800,000-1,000,000 ก้อน

ผู้สื่อข่าวได้สำรวจโรงอิฐในพื้นที่ตำบล โพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นอำเภอที่มีโรงอิฐตั้งอยู่พบว่า โรงอิฐทัพเจริญที่ตั้งอยู่พื้นที่ดังกล่าวได้ปรับขึ้นราคาขายอิฐมอญเช่นกัน ก้อนละ 15 สตางค์ จากเดือนที่ผ่านมาก้อนละ 75 สตางค์ ปรับขึ้นเป็นก้อนละ 90 สตางค์

ต้นทุนก่อสร้างบ้านขยับ

นายวิบูล จันทรดิลกรัตน์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท สหสุธา จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ตอนนี้กำลังประสบปัญหาอิฐมอญขึ้นราคา และยังไม่สามารถระบุการจัดส่งสินค้าที่แน่นอนได้ เพราะถนนถูกน้ำท่วม จากช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมาปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 50 สตางค์ เคยซื้อได้ก้อนละ 70-80 สตางค์ ปัจจุบันเป็นก้อนละไม่ต่ำกว่า 1.25 บาท

ปัจจุบันมีการใช้อิฐมอญก่อสร้างบ้าน เฉลี่ยบ้านพื้นที่ใช้สอย 300 ตารางเมตร ราคาขายประมาณ 5 ล้านบาท จะใช้อิฐมอญหลังละ 45,000-60,000 ก้อน ส่งผลให้มีต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นหลังละกว่า 20,000-30,000 บาท หรือประมาณ 0.5% ของราคาบ้าน อย่างไรก็ตามจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น บริษัทตัดสินใจแบกรับภาระไว้เอง เพราะเปรียบเทียบแล้วคิดเป็นสัดส่วนไม่มาก โดยมีบ้าน 4 หลังที่อยู่ระหว่างรออิฐมอญเพื่อก่อสร้าง

"นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนนี้ได้รับแจ้งจากโรงอิฐในอยุธยา ที่สั่งซื้อประจำว่ายังไม่สามารถส่งของได้ เหตุผลคือ 1.น้ำท่วมโรงอิฐ 2.ติดเรื่องการเดินทางขนส่ง ขณะนี้จึงต้องเริ่มเจรจากับลูกค้าเพื่อขอขยายอายุสัญญา เพราะกังวลจะส่งมอบบ้านล่าช้า โดยขอขยายระยะเวลาออกไปจนกว่าอิฐมอญลอตแรกจะมาส่งที่ไซต์ก่อสร้าง จึงเริ่มนับเป็นวันก่อสร้างงานผนัง" นายวิบูลกล่าว

ค่าขนส่งเริ่มขยับ<ฝb>

นายสาธิต สุดบรรทัด รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระเบื้องหลังคาและวัสดุก่อสร้าง "ตราเพชร" กล่าวว่า หลังจากเกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดประมาณ 1 เดือน ทำให้การขนส่งสินค้ากระเบื้องหลังคาในบางจังหวัดเริ่มมีอุปสรรค ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี และอ่างทอง ทำให้บางพื้นที่ต้องเปลี่ยน เส้นทางและใช้เวลาเดินทางนานขึ้น

กรณีที่ต้องมีระยะทางขนส่งเพิ่มขึ้นไม่เกิน 15-20 กิโลเมตร บริษัทจะรับภาระแทนร้านเอเย่นต์ แต่ถ้าระยะทางเพิ่มขึ้นเกินกว่า 20 กิโลเมตรขึ้นไป จะพิจารณาคิดค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีกเที่ยวละประมาณ 200-500 บาทต่อคันรถ

วัสดุก่อสร้างตัวอื่นยังนิ่ง

นายพีรพล เพ็ชรตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามประสิทธิ์ จำกัดผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารและถนน กล่าวว่า จากการตรวจสอบราคาวัสดุก่อสร้างหลัก ได้แก่ หิน ปูนซีเมนต์ สำหรับแหล่งหินและแหล่งปูนซีเมนต์ในจ.สระบุรี ยังไม่มีการแจ้งปรับราคาสินค้าและค่าขนส่งถึงแม้เกิดเหตุน้ำท่วมทำให้การขนส่งสินค้ามีอุปสรรค

โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ปรับลดการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ทำให้ต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการลดลง โดยปัจจุบันหากสั่งซื้อหินจากโรงโม่ในจังหวัดสระบุรี คิดค่าหินตันละ 150 บาท และค่าขนส่ง (ถึงกรุงเทพฯ) อีกตันละ 250 บาท รวมเป็นตันละ 400 บาท ยังเป็นราคาเดิม ส่วนปูนซีเมนต์ก็ยังยืนราคาเดิมเช่นกัน




ที่มา :  วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554 ประชาชาติธุรกิจ



TAG :

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ชื่อ
Comment
กรุณาป้อนข้อมูลตามที่ปรากฏ

ข้อความในส่วนแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็นข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ feedback@ebuild.co.thเพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้





สินค้าหมวดสถาปัตย์
สินค้าหมวดโครงสร้าง
แหล่งความรู้
eBuild Team
www..co.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Policy
Copyright 2009 Ebuild Co., Ltd. All Rights Reserved.