
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่น่ารัก ห่างหายไปนานสำหรับการมาเขียนเล่าถึงวัสดุก่อสร้างแต่ละชนิด ที่ผมมาวันนี้ก็เพราะว่าช่วงที่ผ่านมานั้นมีบริษัทอยู่หลายบริษัทเลยทีเดียวที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา ที่เค้าได้ช่วยเหลือประชาชนโดยการบริจาคประตูให้สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ก็เลยเป็นไอเดียว่าครั้งนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องของประตูครับ ที่จริงแล้วก่อนจะมาเป็นบทความนี้ผมได้เขียนไว้อีกเรื่องหนึ่ง แต่เนื่องจากเรื่องที่ผมเขียนค้างไว้นั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็นในการทำความเข้าใจ ผมเลยถึงทางตันครับ แหะ ๆ ๆ ผมก็กลัวว่าท่านผู้อ่านจะคิดถึงผมซะก่อนเลยเข็นเรื่องนี้มาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านไปพลาง ๆ ให้หายคิดถึงก่อนครับ ที่ผมจะมาพูดถึงวันนี้คือบานประตูไม้อัดครับ เพื่อที่ท่านผู้อ่านที่น่ารักจะได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อประตูไม้อัดมาประดับบ้านกัน

บานประตูไม้อัด เป็นบานประตูแผ่นไม้ประกอบเรียกตามมาตรฐานอุตสาหกรรม 192-2549 โดยระบุนิยามของบานตูไว้ว่า “บานประตู” หมายถึง บานประตูที่มีกรอบเป็นไม้ มีไม้หรือวัสดุที่ทำจากไม้เป็นไส้และมีแผ่นไม้ประกบเต็ม 2 ด้าน อาจมีช่องสำหรับติดกระจกหรือมีช่องระบายลมอยู่ด้วยก็ได้ สำหรับบานประตูไม้อัดแบ่งเป็นไม้อัดยางกับไม้อัดสัก และทั้ง 2 แบบก็แบ่งประเภทการใช้งานเป็น ภายนอกกับภายในครับ
ประเภทการใช้งานภายนอก คือ สำหรับใช้ภายนอกอาคาร หรือใช้ในที่ซึ่งถูกน้ำหรือละอองน้ำ หรือพูดง่าย ๆ คือกันน้ำนั่นเอง
ประเภทการใช้งานภายใน คือ เหมาะสำหรับใช้ภายในอาคาร หรือใช้ในที่ซึ่งไม่ถูกน้ำหรือละอองน้ำ (แต่จากที่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา จะกันน้ำหรือไม่กันน้ำ ผมเห็นว่าไม่มีบานไหนรอดนะครับบางพื้นที่ชั้น 2 ก็ยังไม่รอด) มาถึงขนาดตามมาตรฐานของบานประตูไม้อัดกันบ้างครับ โดยขนาดตามมาตรฐานก็มีดังนี้
600x1800x35 มิลลิเมตร 600x2000x35 มิลลิเมตร
700x1800x35 มิลลิเมตร 700x2000x35 มิลลิเมตร 800x1800x35 มิลลิเมตร 800x2000x35 มิลลิเมตร 900x1800x35 มิลลิเมตร 900x2000x35 มิลลิเมตร
จากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ระบุว่าบานประตูไม้อัดเป็นบานประตูแผ่นไม้ประกอบ เนื่องด้วยประตูที่ว่านี้ไม่ใช่การนำไม้อัดมาอัดขึ้นรูปตามที่ผมได้เคยเข้าใจตั้งแต่ต้น ที่จริงแล้วประตูแผ่นไม้ประกอบ ประกอบไปด้วยไม้ประกอบแต่ละส่วนมาประกอบกันจนเป็นประตูครับ โดยส่วนประกอบของมันนั้นประกอบไปด้วย (รายละเอียดตาม มอก.)
ไม้กรอบและไม้เสริม : ทำจากไม้แปรรูปเนื้อแข็งปานกลาง ประเภทหน้าเล็ก ความชื้นไม้เกิน 15%
ไม้กรอบข้าง : ไม้ที่ใช้ในการผลิตมีความกว้างไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร
ไม้กรอบบนและไม้กรอบล่าง : ไม้ที่ใช้ในการผลิตมีความกว้างไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร
ไม้เสริมข้าง : ไม้ที่ใช้ในการผลิตมีความกว้างรวมกับไม้กรอบข้างไม้น้อยกว่า 90 มิลลิเมตร และมีความยาวไม่น้อยกว่า 400 มิลลิเมตร หากไม้เสริมข้างประกอบจากไม้คนละชิ้นต้องต่อเป็นชิ้นเดียวกัน
ไม้เสริมมุม : ไม้ที่ใช้ในการผลิตมีความกว้างรวมกับไม้กรอบบนหรือไม้กรอบล่างหรือไม้กรอบข้างแล้วแต่กรณีไม่น้อยกว่า 55 มิลลิเมตร และมีความยาวไม่น้อยกว่า 400 มิลลิเมตร หากไม้เสริมข้างประกอบจากไม้คนละชิ้นต้องต่อเป็นชิ้นเดียวกัน
แผ่นหน้าไม้ : แผ่นไม้อัด, แผ่นใยไม้อัดแข็ง, แผ่นชิ้นไม้อัด, และแผ่นใยไม้อัดแข็งความหนาแน่นปานกลาง
ไส้ : ชนิดภายใน ต้องทำจากไม้แผ่นไม้อัด แผ่นชิ้นไม้อัด, กระดาษรังผึ้งหรือวัสดุอื่นที่ทำจากไม้ และความหนาของไส้ไม้ต้องเท่าความหนาของไม้กรอบ
: ชนิดภายนอก ต้องทำจากไม้หรือแผ่นไม้อัดประเภทใช้งานภายนอก และความหนาของไส้ไม้ต้องเท่าความหนาของไม้กรอบ
กาว : ประตูชนิดภายในใช้กาวยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์
: ประตูชนิดภายนอกใช้กาวเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งมีคุณสมบัติกันความชื้น

ก็ผ่านกันไปสำหรับส่วนประกอบของบานประตูไม้อัดนะครับ ทุกคนคงเห็นกันแล้วว่าที่จริงแล้วประตูไม้อัดนั้น ไม่ได้อัดขึ้นรูปมาตามที่ผมเองเคยเข้าใจ เพียงแต่เป็นการประกอบกันจนเป็นประตู และผมจะทิ้งท้ายอีกอย่างหนึ่งว่าประตูทุกชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นประตูพีวีซีหรือประตูไม้จริง ด้านในหรือไส้จะกลวงครับ เหตุก็คงจะเป็นเพราะถ้าหากด้านในเป็นไม้ทั้งแผ่นจริง ๆ อย่างประตูไม้จริงนั้นบานประตูก็จะมีน้ำหนักมาก เวลาเปิดปิดทีคงต้องมีล้อติดเอาไว้ด้านล่างเพื่อให้ง่ายต่อการเปิดปิดอย่างแน่นอนครับ จุดสังเกตอีกอย่างว่าประตูมันกลวงคือการเคาะครับ เพราะเคาะประตูกี่ครั้ง ๆ ก็จะมีเสียงดังก้อง ๆ นั่นก็เพราะด้านในมันกลวงครับ เพราะว่าถ้าหากไม่กลวงเสียงมันก็จะไม่ดัง เคาะให้ตายคนด้านในก็ไม่มีทางได้ยินหรอกครับ ส่วนใครที่สงสัยว่าชื่อเรื่องที่ผมจะโดนอัดนั้นก็เป็นเพราะว่า ผมห่างหายกับท่านผู้อ่านมานานเหลือเกิน จนมีเสียงกดดันแล้วว่าเมื่อไหร่ผมจะกลับมาสักที เพราะถ้าหากไม่ยอมกลับมาหรือทิ้งไว้นานเกินไประวังจะโดนอัด แล้วพบกันใหม่สวัสดีครับ
ระพีพัฒน์
ข้อมูลประกอบ เมโทรพาเนล, Wattana Wood
ข้อมูลอ้างอิง มอก. 192-2549
ภาพประกอบ เมโทรพาเนล, Internet, Porte
TAG :ไม้อัดยาง,ไม้อัดสัก,บานประตูไม้อัด,บานประตูไม้ประกอบ,มอก.192-2549,อีบิลด,ใช้ภายนอก,ใช้ภายใน |