" รู้อย่างช่าง สร้างอย่างปราชญ์ "

 


Knowledges



Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
หน้าหลักข่าวก่อสร้าง     ข่าวเศรษฐกิจก่อสร้าง  
NEWS จับตา 5 สัญญาณ เศรษฐกิจจีน "ซบ-ซึม"
วันที่ลง : 26-Jul-2012   จำนวนคนอ่าน 743

แม้แนวโน้มของเศรษฐกิจจีนจะยังอยู่ในระดับน่าพอใจเมื่อเทียบกับมาตรฐานยุโรป?แต่ดัชนีชี้วัดที่ออกมาเริ่มส่งสัญญาณว่าแรงขับเคลื่อน การเติบโตผ่อนเกียร์ลงแล้ว เช่น ภาคธุรกิจขอสินเชื่อลดลง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมแผ่ว มีการลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งภายในเดือนเดียว และการขยายตัวของจีดีพีชะลอตัว

โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ของปีนี้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัว อยู่ที่ 7.6% ซึ่งถือเป็นตัวเลขรายไตรมาสต่ำสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนถึงกับเชื่อว่าพญามังกรเข้าสู่ภาวะตกต่ำไปเรียบร้อยแล้ว ตอนที่ นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่าประกาศในเดือนมีนาคมว่า ตั้งเป้าการเติบโตปีนี้ไว้ที่ 7.5% หลายฝ่ายมองว่าเป็นเป้าแบบปลอดภัยไว้ก่อน แต่ขณะนี้ตัวเลขดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการมองเห็นอนาคตล่วงหน้า ซึ่งถ้าจีดีพีของจีนเติบโตที่ระดับนี้จริงจะเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับจากปี 2533 เมื่อแดนมังกรถูกนานาชาติโดดเดี่ยวจากการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน

"ฟอเรียน โพลิซี" ชี้ว่าตัวชี้วัดเศรษฐกิจจีนที่แม่นยำที่สุดอาจไม่ใช่ตัวเลขสถิติ แต่เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค ภาคธุรกิจและส่วนราชการซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ต่อไปนี้คือสัญญาณ 5 อย่างในโลกความเป็นจริงว่าเศรษฐกิจของพญามังกรอยู่ในภาวะเซื่องซึม
1."ลาก่อนบีเอ็มดับเบิลยู" จากแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าเกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์ ที่ช่วยให้จีนผ่านพ้นวิกฤตการเงินโลกปี 2552 บัดนี้ถึงเวลาต้องชำระหนี้คืนแล้ว ประกอบกับยอดขายที่ดินหดลงมาก เพราะมาตรการคุมเข้มภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลกลาง รวมถึงการขาดแคลนเงินสดและความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ทำให้เทศบาลขาดรายได้ไปมหาศาล จึงนำไปสู่การรัดเข็มขัดของเทศบาลในชนบท ทำให้รถยนต์แบรนด์หรูทั้งหลายซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเคยขับฉิวไปมาในช่วงปีที่ได้รับเงินอัดฉีดจากรัฐบาลกลางคือสิ่งแรกที่ต้องจากไป เช่น ที่เมืองเหวินจูวางแผนนำรถที่อยู่ในครอบครองราว 80% หรือ 1,300 คัน ออกประมูลในปีนี้

2."จลาจลในกวางตุ้ง" เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลจีนได้รับการเตือนมานานหลายทศวรรษแล้วว่า ปัญหาปากท้องจะก่อให้เกิดความวุ่นวายทางสังคม แต่การเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสูงพอที่จะทำให้ประชาชนหมู่มากสงบปากสงบคำได้ แต่เมื่อการเติบโตของจีดีพีจ่อจะหลุด 8% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ความตึงเครียดย่อมก่อตัวขึ้นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อแรงงานอพยพจากชนบทหลายล้านคนตระหนักว่าเสี่ยงที่จะตกงาน การทำงานหนักของแรงงานอพยพเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของแดนมังกร แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศนี้จะมั่นคงได้ขึ้นอยู่กับการทำให้ คนงานเหล่านั้นรู้สึกว่าตนมีส่วนได้ประโยชน์จากการพัฒนาด้วย เพราะความไม่พอใจของแรงงานกลุ่มนี้มีพลังพอจะสร้างความระส่ำระสายให้ประเทศได้ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองชาซี มณฑลกวางตุ้ง เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

ขณะที่ "หลู่ ติง" นักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์?ออฟ อเมริกา ระบุว่า เกิดภาพชัดเจนว่าจะเกิดการชะลอตัวของการส่งออก เนื่องจากความอ่อนแอในยุโรปและสหรัฐจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจจีน ทำให้ขณะนี้มีผู้ส่งออกหลายรายต้องปิดกิจการ ส่วนโรงงานที่ยังเปิดเดินสายการผลิตอยู่ก็ต้องลดกะการทำงานจาก 3 กะ เหลือแค่ 1 กะ

3."เศรษฐีจีนหันหลังให้บ้านเกิด" เมื่อเห็นท่าไม่ดี คนรวยคือพวกแรกที่เผ่นไปสนามบิน จากยอดขายสินค้าไฮเอนด์ซึ่งบูมมากในจีนเริ่มซบเซาช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐีจีนหยุดจับจ่าย คนกลุ่มนี้เพียงแต่เลิกช็อปปิ้งในประเทศบ้านเกิด สัญญาณดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ว่าคนรวยในแดนมังกรสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดในประเทศ โดยเริ่มหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายอย่างเงินตราต่างประเทศแทนสินทรัพย์คงที่อย่างที่อยู่อาศัย และตอนนี้ก็หันไปลงทุนในอสังหาฯระดับไฮเอนด์ในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะข้อจำกัดเข้มงวดในบ้านเกิดและราคาสินทรัพย์ที่ถูกลงในต่างแดน รวมถึงต้องการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีนด้วย สอดคล้องกับการเปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 2554 เศรษฐีเงินล้านของจีนเกินครึ่งวางแผนจะหันหลังให้บ้านเกิดเมืองนอน แล้วไปตั้งรกรากถาวรในต่างแดน

4."ชาวจีนยอมทนอากาศร้อน" ปกติยอดการใช้กระแสไฟฟ้ามักพุ่งกระฉูดในช่วงฤดูร้อน เพราะผู้คนหันไปหาเครื่องปรับอากาศเพื่อลดอุณหภูมิ แต่ปีนี้ชาวจีนจำนวนมากพร้อมใจกันท้าทายอากาศที่ร้อนจัดเพื่อประหยัดเงินในกระเป๋า ขณะที่ตามท่าเรือในแดนมังกรมีถ่านหินซึ่งควรจะถูกนำไปใช้ในโรงผลิตไฟฟ้ากองอยู่เต็มไปหมด ต้นเหตุหลักอยู่ที่การลดกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม จากที่เมื่อปีกลายรัฐบาลปักกิ่งเพิ่งพูดเรื่องสร้างสต๊อกถ่านหินฉุกเฉินไว้สำหรับป้องกันการขาดแคลน แต่ขณะนี้กลับดูเหมือนจีน นำเข้าพลังงานมากเกินความต้องการ เพราะภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและโรงงานหั่นการบริโภคกระแสไฟฟ้าเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

5."หมูถูก ไข่แพง" จากที่ชาวจีนมีฐานะดีขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาเนื้อหมูและเนื้อวัวพุ่งสูง ข้อมูลของสำนักงานสถิติของแดนมังกรเผยว่า ในปี 2550 ชาวจีนรับประทานสุกรมากถึงวันละ 1.7 ล้านตัว และในปี 2554 พบว่าราคาเนื้อหมูพุ่งสูงถึง 57% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ทว่าตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมาดีมานด์ต่อเนื้อชนิดนี้กลับลดลงส่งผลให้เกิดซัพพลายส่วนเกิน เห็นได้จากสัดส่วนราคาสุกรต่อข้าวโพด (hog-to-corn price ratio) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการทำกำไรของเกษตรกรทรุดลงมากจนรัฐบาลต้องเข้าไปรับซื้อเนื้อหมูเพื่อพยุงราคา ขณะที่อาหารมีราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วสวนทางกับเนื้อหมูคือไข่ไก่ จนได้รับฉายาว่า "ไข่จรวด" ซึ่งเป็นผลจากปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดลดลง และความต้องการบริโภคสูงขึ้น เพราะเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก (หน้าพิเศษ)



ที่มา  :  25 ก.ค. 2555  ประชาชาติธุรกิจ



TAG :จับตา 5 สัญญาณ เศรษฐกิจจีน "ซบ-ซึม",ข่าวอสังหา,อสังหาริมทรัพย์,บ้าน,ที่อยู่อาศัย,ข่าวผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง,ข่าวก่อสร้าง,อีบิลด,eBuild,ข่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ชื่อ
Comment
กรุณาป้อนข้อมูลตามที่ปรากฏ

ข้อความในส่วนแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็นข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ feedback@ebuild.co.thเพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้





สินค้าหมวดสถาปัตย์
สินค้าหมวดโครงสร้าง
แหล่งความรู้
eBuild Team
www..co.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Policy
Copyright 2009 Ebuild Co., Ltd. All Rights Reserved.